ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับมะหาด ออกมามากมาย เช่น โลชั่นมะหาด ครีมมะหาด สบู่มะหาด หัวเชื้อมะหาด โฟมล้างหน้า เช็ดหน้า เซรั่ม ที่มีส่วนผสมของสารที่สกัดจากมะหาด ซึ่งที่ฮือฮา ก็เพราะว่า
เภสัชศาสตร์ จุฬาฯ พบสูตรสมุนไพรไทย “แก่นมะหาด” ลดความเข้มของเม็ดสีเมลานินในผิวหนัง มีผลทำให้ผิวขาวได้ ปลอดภัยและไม่ทำให้ระคายเคืองผิว
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ (ส.ก.18117 เข้าสวนฯปี 2514; OSK อีกท่านจากสกุลนี้ คือ อภิรักษ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ OSK112) และ รศ.ดร.ภาคภูมิ เต็งอำนวย อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษาวิจัย “สมุนไพรช่วยให้ผิวขาวจากแก่นมะหาด” เปิดเผยว่า สารที่มีคุณสมบัติลดสีผิวและช่วยทำให้ผิวขาว มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับกลไกการออกฤทธิ์ ทั้งนี้ สารที่ทำให้เกิดผิวขาวที่นิยมใช้มากที่สุดคือ สารขจัดสีผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรสิเนส ซึ่งทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยา ตั้งต้นของกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน สารเหล่านี้ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาแพง การศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยจากแก่นมะหาด เพื่อพัฒนาสารที่ช่วยทำให้ผิวขาว นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดการนำเข้าสารเหล่านี้จากต่างประเทศ
มะหาดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Artocarpus lakoocha Roxb. เป็นต้นไม้ยืนต้นในวงศ์ Moraceae พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านนิยมนำแก่นมาต้มกับน้ำ และนำสิ่งที่สกัดได้มาทำให้เป็นผงแห้ง เรียกว่า “ปวกหาด” ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวตืด การศึกษาวิจัยเรื่องสรรพคุณของมะหาดที่ทำให้ผิวขาวนั้นเริ่มต้นเมื่อปี 2541 โดยทำการสุ่มตัวอย่างพืชสมุนไพรหลายชนิด มาทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรสิเนสในหลอดทดลอง จนกระทั่งพบว่าสารสกัดจากแก่นมะหาด ให้ผลยับยั้งเอนไซม์ชนิดนี้มากที่สุด และมีความเป็นไปได้ที่จะนำสารชนิดนี้มาพัฒนา เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผู้วิจัยได้ทำการประเมินประสิทธิผลของสารสกัดจากแก่นมะหาดเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการศึกษาในหนูตะเภา และการทดลองใช้ในอาสาสมัคร โดยช่วงแรกผู้วิจัยได้นำผงปวกหาดที่หาได้ง่ายมาทดลองใช้ เปรียบเทียบกับสารที่ช่วยทำให้ผิวขาวเป็นที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบันและมีราคาแพง
ผลการทดลองพบว่าปวกหาด มีประสิทธิภาพในการลดความเข้มของสีผิวในหนูตะเภา ต่อมาได้ทำการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 4 คน โดยทาสารสกัดจากแก่นมะหาดที่แขนวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และทำการวัดค่าความเข้มของสีผิวด้วยเครื่อง Mexameter พบว่าแขนที่ทาด้วยสารสกัดจากแก่นมะหาดมีแนวโน้มให้ค่าความเข้มของสีผิวลดลง นอกจากนี้ ยังไม่มีอาการแพ้หรือระคายเคือง ในที่สุดผู้วิจัยได้ศึกษาในอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น คือ 60 คน ในระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน เป็นเพศหญิง อายุ 20–48 ปี มีสภาพผิวหนังปกติ จากการทาสารสกัดที่ต้นแขนของอาสาสมัครวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่ทาด้วยสารสกัดจากชะเอมและกรดโคจิก ผลการทดลองพบว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ทาด้วยสารสกัดจากมะหาด จะมีผิวขาวขึ้นเรื่อย ๆ ความขาวของสีผิวจะเห็นผลในระยะเวลาเพียง 4 สัปดาห์ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญตามระยะเวลาที่ทำการทดลอง นอกจากนี้ ยังไม่พบอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวแต่อย่างใด ในขณะที่สารสกัดจากชะเอมและกรดโคจิกให้ผลในการทำให้ผิวขาวในระยะเวลาที่นานกว่า คือ 10 และ 8 สัปดาห์ตามลำดับ
ที่มา : ข่าวจาก นสพ. ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ 5 ธ.ค. 2545
วันที่: Sun Apr 20 00:06:43 ICT 2025
|
|
|